นอนไม่หลับ สาเหตุที่ทำให้เพลียตลอดวัน│แค่รู้เท่าทัน ก็หายได้ด้วยตัวเอง

นอนไม่หลับ สาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้าได้ตลอดวัน โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว ซึ่งหากนอนไม่หลับติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เกิดความเครียดสะสม ทั้งทางร่างกายและจิตใจซึ่งส่งผลให้ฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ จนกลายเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังได้ ดังนั้นรีบหาวิธีแก้อาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกตั้งแต่วันนี้ จะได้ไม่มีปัญหาสุขภาพอื่นตามมา

นอนไม่หลับเกิดได้หลายรูปแบบ

นอนไม่หลับ (Insomnia) คือภาวะที่มีความยากลำบากในการนอน ไม่ว่าจะง่วงมากแต่นอนไม่หลับ, นอนไม่หลับตั้งแต่ช่วงแรก, หลับแล้วตื่นขึ้นมากลางดึก, นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืน หรือตื่นเร็วกว่าที่ตั้งใจ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกว่า มีอาการนอนไม่หลับทั้งสิ้น โดยสามารถแบ่งได้เป็น อาการนอนไม่หลับแบบเฉียบพลัน (Acute Insomnia) ที่ส่วนใหญ่จะเป็นนานประมาณ 2-3 สัปดาห์ และอีกแบบคือนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia) ที่จะมีอาการนอนไม่หลับอย่างน้อย 3 คืนใน 1 สัปดาห์ ต่อเนื่องนานกันมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะต้องหาสาเหตุทั้งทางร่างกายและจิตใจ

นอนไม่หลับ2

นอนไม่หลับ สาเหตุเกิดจากอะไร ?

  • สภาวะจิตใจ

นอนไม่หลับ สาเหตุหลักของวัยรุ่นและวัยกลางคน มักเกิดจากปัญหาทางจิตใจ ซึ่งหากรู้เท่าทันว่า สาเหตุเกิดจากอะไร ก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากความเครียด เช่น ความเครียดจากงานและการเรียน, ความกังวลที่เกิดจากการสอบ, เครียดจากความรัก, มีปัญหาครอบครัว, สถานการณ์การเงินฝืดเคือง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เครียดจนนอนไม่หลับได้บ่อย หรือมีวิกฤติบางอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะสูญเสียคนรัก, หย่าร้าง, ถูกพักงาน, ตกงาน, ติดโควิด ส่วนในผู้สูงอายุ อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน, มีอาการเจ็บปวดจากโรคเรื้อรัง หรือแม้แต่การมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่น้อยลง ก็เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับได้เช่นกัน

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต

 ช่วงที่มีการเรียนออนไลน์ หรือทำงานได้จากที่บ้าน (Work from Home) หลายคนอาจมีอาการนอนไม่หลับ เพราะนอนไม่เป็นเวลา, ตื่นสาย, นอนกลางวัน, ทำงานโต้รุ่ง หรือทำงานหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งจะรบกวนระบบการเผาผลาญ, ระบบภูมิคุ้มกัน, รบกวนฮอร์โมน จนทำให้วงจรการนอนผิดเพี้ยนไป หรือพฤติกรรมที่ชอบเปลี่ยนเตียงนอน ให้เป็นลานอเนกประสงค์ ทั้งใช้นอน, กิน, ทำงาน, อ่านหนังสือ, ดูหนัง ล้วนแต่ทำบนเตียง ซึ่งจะทำให้มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะต่อการนอนเท่าที่ควร 

  • รูปแบบการทำงาน

 อาการนอนไม่หลับเกิดจากอะไรได้หลายอย่าง ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำงานไม่เป็นเวลา, ทำงานเป็นผลัด หรือต้องเดินทางทำงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากเดินทางข้าม 3 เขตเวลา (Time Zone) จะมีแนวโน้มในการนอนไม่หลับได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) และสมองส่วนที่ควบคุมการนอน ถูกรบกวนบ่อยจนเสียสมดุล

  • อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด

แน่นอนว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชา, กาแฟ, โกโก้, น้ำอัดลมก่อนนอน จะทำให้หลับได้ยาก รวมทั้งการกินอาหารก่อนนอนมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน เพราะอาจรู้สึกอึดอัดจนนอนไม่ได้, แน่นหน้าอก, จุกลิ้นปี่ หรือบางคนเกิดกรดไหลย้อนกำเริบ จนหลับไม่สนิททั้งคืนก็มี

  • ยาบางประเภท

หากคุณเพิ่งเริ่มกินยาหรือเปลี่ยนยาใหม่ แล้วมีอาการนอนไม่หลับ อย่าลืมนึกถึงยาบางกลุ่ม ที่รบกวนการนอนได้เช่นกัน อย่างยารักษาโรคหอบหืด, โรคความดันโลหิตสูง, ยาลดน้ำหนัก รวมถึงยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะกระตุ้นระบบประสาท จนทำให้บางคนหลับไม่ได้ตลอดคืน

  • ผลข้างเคียงจากโรคอื่น

 นอนไม่หลับ สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อย แต่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม คืออาการนอนไม่หลับ ที่เป็นผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น เช่น

  • โรคหอบหืด
  • โรคกรดไหลย้อน
  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคซึมเศร้า
  • โรควิตกกังวล, โรคหวาดระแวง
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ

ผลกระทบจากการนอนไม่หลับ ร้ายแรงกว่าที่คิด

หากนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย, หมดแรงเร็วกว่าปกติ, หงุดหงิดบ่อย, ความจำสั้น, สมองสั่งการช้า ซึ่งอาจรบกวนการเรียน, การทำงาน และการใช้ชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองแตกและตีบ, โรคอ้วน และโรคอารมณ์แปรปรวน ดังนั้นจึงควรรีบแก้อาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพในระยะยาว

รักษานอนไม่หลับ เริ่มได้ที่ตัวเอง

  • ผ่อนคลายจิตใจ

นอนไม่หลับ สาเหตุหลักสืบเนื่องมาจากจิตใจ ลองแก้ไขด้วยการถอยออกจากปัญหา แล้วลองมองในมุมที่สมมติให้ตัวเองเป็นคนอื่น ร่วมกับการแบ่งเวลาบางช่วงของวัน ไปทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาบ้าง ส่วนกรณีที่นอนไม่หลับจากการสูญเสีย อาจต้องใช้เวลาเพื่อเยียวยา ซึ่งอาจปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อให้ช่วยบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy, CBT) ก็จะช่วยให้พบวิธีแก้ไข ซึ่งส่งผลให้หลับได้ดีขึ้น

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม

หากอาการนอนไม่หลับเกิดจากอะไร ที่ไม่ใช่สาเหตุทางจิตใจ ถ้าอย่างนั้นลองมาสำรวจทางกายดูบ้าง เผื่อจะมีพฤติกรรมที่รบกวนการนอนโดยไม่รู้ตัว

  • ถ้านอนกลางวันมากไป ลองพยายามหากิจกรรมอื่นทำเพื่อไม่ให้หลับ จนกว่าจะค่ำ
  • ออกกำลังกายหนักมากไป อาจทำให้ตื่นตัวจนนอนไม่หลับได้เหมือนกัน
  • ถ้าชอบดูหนัง หรือรายการสยองขวัญก่อนนอน ลองเปลี่ยนเป็นดูอะไรที่น่าเบื่อดูบ้าง
  • ฟูกนอนแข็งเกินไป อาจทำให้ปวดตัวจนหลับไม่สนิทได้
  • มีเสียงรบกวนรอบห้องหรืออากาศร้อนเกินไป จะไม่ส่งเสริมการนอน
  • บางคนอาจง่วงมากแต่นอนไม่หลับ อาจเป็นเพราะชอบดื่มคาเฟอีนก่อนนอน
  • บำบัดด้วยธรรมชาติ

รักษานอนไม่หลับด้วยสมุนไพรธรรมชาติ เป็นวิธีหนึ่งที่ปลอดภัย หลายคนจึงเลือกใช้แนวทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันรำข้าว ที่มีสาร Gamma Oryzanol ช่วยให้สมองผ่อนคลาย จนหลับได้ง่ายขึ้น หรือน้ำใบบัวบก ที่อาจเตรียมจากน้ำใบบัวบกคั้นสดประมาณ 1 กำมือ จะช่วยให้หลับง่าย คลายเครียดได้ ทั้งยังบำรุงสมองและผิวพรรณได้อีกด้วย

  • ยารักษาอาการนอนไม่หลับ

การใช้ยาเพื่อแก้อาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว และรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยานอนหลับแต่ละชนิด เหมาะสำหรับรูปแบบการนอนหลับที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจนอนไม่หลับช่วงต้น แต่หลังจากนั้นหลับได้สนิท ในขณะที่บางคนหลับง่ายตอนแรก แต่ชอบตื่นกลางดึก ซึ่งแต่ละรูปแบบของการนอนไม่หลับ จะใช้ยารักษาที่ไม่เหมือนกัน และอาจมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้ปากแห้ง, คอแห้ง, ท้องผูก, ตื่นนอนแบบไม่สดชื่นได้

สรุป

นอนไม่หลับ สาเหตุเกิดได้จากหลายประการ ทั้งจากความเครียดทางจิตใจ, พฤติกรรมการใช้ชีวิต, อาชีพที่ทำงานเป็นผลัด, อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด, ยาบางประเภท รวมถึงผลข้างเคียงจากโรคบางชนิดด้วย ซึ่งควรเริ่มจากการสำรวจตัวเอง ผ่อนคลายจิตใจ, ปรับพฤติกรรม, เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงลองใช้สมุนไพร และให้ยาเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่หากดูแลตัวเองเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังนอนไม่ได้ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษานอนไม่หลับ จะได้ไม่รบกวนการใช้ชีวิต จนทำให้เสียสมาธิ และเพลียไปตลอดวัน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้